ยินดีต้อนรับ

abczaa...ความซ่า...ไม่มีขีดจำกัด...แหล่งรวมไลฟ์สไตล์อันหลากหลายของคนรุ่นใหม่ ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม...^o^

สาละ

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ต้นสาละ (Shorea robusta Roxb.)

สกุล (Genus) ไม้สยา (Shorea)
วงศ์ (Family) ไม้ยาง (Dipterocarpaceae)
สาละ หรือที่ชาวอินเดียเรียกว่า ซาล (Sal) เป็นไม้พื้นเมืองของอินเดีย มักขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ ตามบริเวณที่ค่อนข้างจะชุ่มชื้น เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ เปลือกสีเทา แตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มทึบรูปเจดีย์หรือรูปไข่ เรือนพุ่มประมาณ 2/3 ของความสูงของต้น ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ใบดกหนา รูปไข่กว้าง โคนใบหยักเว้าเข้า ปลายใบหยักเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ผิวใบเป็นมันเกลี้ยง พื้นใบมักเป็นคลื่น รูปทรงคล้ายใบรัง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ไม่มีขน ดอกสีเหลืองอ่อน ออกดอกตามปลายกิ่งและง่ามใบ รวมกันเป็นช่อดอกสั้นๆ กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ผลแข็ง มีปีก 5 ปีก ยาว 3 ปีก สั้น 2 ปีก แต่ละปีกมีเส้นตามยาวปีก 10-15 เส้น
การขยายพันธุ์
นิยมใช้เมล็ดเพาะหรือจะใช้การตอนกิ่งหรือทาบกิ่ง แต่การตอนหรือทาบกิ่งนั้นเปอร์เซ็นต์การติดน้อยมาก

การปลูกในประเทศไทย
ผู้นำเอาต้นสาละหรือต้นซาลเข้ามาปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะปลูกไว้ตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดพระเชตุพนฯ วัดบวรนิเวศน์ฯ และที่สวนพฤกษศาตร์พุแค จังหวัดสระบุรี เป็นต้น มีประวัติการนำมาปลูกหลายครั้ง อาทิ
  • หลวงบุเรศบำรุงการนำมาถวายสมเด็จพระมหาวีรวงษ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยทรงปลูกไว้ที่หน้าพระอุโบสถ 2 ต้น กับได้น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2510 อีก 2 ต้น ซึ่งทรงปลูกไว้ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 1 ต้น และทรงมอบให้วิทยาลัยการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีอีก 1 ต้น
  • อาจารย์เคี้ยน เอียดแก้ว และอาจารย์เฉลิม มหิทธิกุล ได้นำต้นสาละมาปลูกไว้ในบริเวณคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่ค่ายพักนิสิตวนศาสตร์ สวนสักแม่หวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง
  • พระพุทธทาสภิกขุ ปลูกไว้ที่สวนโมกข์ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • และนายสวัสดิ์ นิชรัตน์ ผู้อำนวยการกองบำรุง ได้นำต้นสาละมาปลูกไว้ในสวนพฤกษศาตร์พุแค จังหวัดสระบุรี

ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นสาละหรือซาล
ชาวไทยอาจจะยังค่อนข้างสับสนกันอยู่ เช่น เข้าใจว่าต้นสาละ เป็นต้นเดียวกันกับต้นรัง ที่มีชื่อทางพฤกษศาตร์ว่า Shorea siamensis Miq. เพราะรูปร่างและขนาด ของใบคล้ายคลึงกันมาก ประกอบกับต่างก็ชอบขึ้นเป็นหมู่ด้วยเช่นกัน แต่รังของไทยผิวใบไม่เป็นมัน พื้นผิว ค่อนข้างเรียบ บางสายพันธุ์ยังมีขนตามผิวใบ กับพอใบแก่จัดก่อนร่วงยังกลายเป็นสีแดงอิฐเสียอีกด้วยบางทีก็เข้าใจว่าต้นลูกปืนใหญ่หรือแคนนอลบอล ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Couroupita guianensis Aubl. เพราะมีผู้นำต้นไม้ชนิดนี้มาจากประเทศลังกา และได้รับการบอกเล่าจากทางลังกาว่าเป็นต้นสาละ แต่พันธุ์ไม้ดังกล่าวจะมีช่อดอกออกตามลำต้น ดอกโตขนาดถ้วยแกง และมีผลกลม โต ขนาดผลส้มโอย่อมๆ

ต้นไม้ในพุทธประวัติ
สาละ หรือ ซาล เป็นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ตั้งแต่ทรงประสูติจนถึงปรินิพพาน โดยที่พุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายา เมื่อใกล้กำหนดจะให้พระประสูติการก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไป ยังกรุงเทวทหนคร อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง (ตามธรรมเนียมพราหมณ์ ผู้หญิงเมื่อจะคลอดบุตร ต้องกลับไปคลอดที่บ้านของพ่อแม่ตน) ในระหว่างทางพระนางได้ทรงหยุดพักบริเวณป่าแห่งหนึ่ง ใต้ร่มต้นสาละ เขตตำบลลุมพินีสถาน พระนางทรงเจ็บพระครรภ์ จึงใช้ร่มของต้นสาละ ณ ที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ประสูติ
สาละ เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติโดยที่พระพุทธองค์ได้เสด็จไปถึงยังเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ได้ประทับในบริเวณสาลวโณทยาน ภายใต้ร่มต้นสาละคู่หนึ่ง ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมาก จึงรับสั่งให้พระอานนท์ ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดที่บรรทมเอนพระวรกายลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ แล้วเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพานภายใต้ต้นสาละนั่นเอง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
 
Copyright © abczaa...