ยินดีต้อนรับ

abczaa...ความซ่า...ไม่มีขีดจำกัด...แหล่งรวมไลฟ์สไตล์อันหลากหลายของคนรุ่นใหม่ ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม...^o^

วิกฤติทองของเจ้าลา

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553

นิทานเรื่องนี้ ได้รับบทความส่งต่อมาจากเรื่อง วิกฤติคือโอกาสทอง โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นบทความที่ดีมีสาระประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติในชีวิต จึงขออนุญาตนำเรื่องและภาพมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ ขอขอบคุณและขอน้อมอนุโมทนาบุญกุศลทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้การเผยแผ่บทความอันมีค่ายิ่งนี้ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านทุกท่าน สาธุๆๆ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
มีชาวนาคนหนึ่งเลี้ยงลาไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งแก่มากแล้ว ด้วยความโง่ของมัน ดันเดินซุ่มซ่ามไปตกบ่อแห่งหนึ่ง มันร้องครวญครางอยู่เป็นเวลานาน ชาวนาเองก็พยายามใคร่ครวญหาวิธีที่จะช่วยมันขึ้นมา
ในที่สุดชาวนาหวนคิดขึ้นมาได้ว่า
เจ้าลาก็แก่เกินไปแล้วอีกอย่างบ่อนี้ก็ต้องกลบไม่คุ้มที่จะช่วยเจ้าลา ชาวนาจึงไปขอแรงชาวบ้าน เพื่อมาช่วยกลบบ่อ ทุกคนใช้พลั่วตักดินสาดลงไปในบ่อ ครั้งแรกเมื่อดินถูกหลังลา มันตกใจและรู้ชะตากรรมของตนเองทันที มันร้องโหยหวน สักพักหนึ่งทุกคนก็แปลกใจที่เจ้าลาเงียบไป
หลังจากชาวนาตักดินใส่บ่อได้สักสองสามพลั่ว
เมื่อเหลือบมองลงไปในบ่อก็พบกับความประหลาดใจ ที่ลามันจะสะบัดดินออกจากหลังทุกครั้งที่มีผู้สาดดินลงไปแล้วก้าวขึ้นไปเหยียบบนดินเหล่านั้น ยิ่งทุกคนพยายามเร่งระดมสาดดินลงไปมากเท่าไร มันก็ก้าวขึ้นมาเร็วได้มากยิ่งขึ้น ในไม่ช้าทุกคนต่างประหลาดใจเพราะในที่สุด เจ้าลาก็สามารถหลุดพ้นจากปากบ่อดังกล่าวได้
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ชีวิตนี้อุปสรรคต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาหาเราก็เปรียบเหมือนดินที่สาดเข้ามาหาเรา จงอย่าท้อถอยและยอมแพ้ จงแก้ไขมันเพื่อที่จะก้าวสูงขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเหมือนลาแก่ที่หลุดพ้นจากบ่อได้ ฉันใดฉันนั้น อุปสรรคมีไว้ให้ก้าวข้ามไป ชีวิตคนเราก็เช่นกันเราก็ต้องประสบกับโลกธรรมแปดเป็นธรรมดา คือ ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ก็ต้องมีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ แต่เมื่อเรามีทุกข์ มีปัญหาหรือต้องประสบกับวิกฤติหนักหนาสาหัสแค่ไหน ก็ให้อาศัยขันติ มีความอดทน

เมื่อมีความทุกข์
หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด ตั้งสติใช้ปัญญา อาศัยอดทน อดกลั้น หยุดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ก่อน ไม่ต้องคิดที่จะแก้ปัญหาภายนอก กำหนดรู้ลมหายใจออกยาวๆ ลมหายใจเข้าลึกๆ ให้มีสติ มีความรู้สึกตัวกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ติดต่อกัน ต่อเนื่องกัน มีสมาธิตั้งมั่นกับลมหายใจ ปล่อยวางความรู้สึกที่ไม่ดี ปล่อยวางจิตใจให้ว่างๆ ว่างจากอดีต ว่างจากอนาคต ว่างจากความไม่สบายใจ เหลือแต่จิตที่มีแต่ความรู้สึกตัว เบิกบานใจ โอปนยิโกน้อมเข้าไปหาธรรมชาติของจิตที่เป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใส เมื่อจิตสงบสบายแล้ว จึงค่อยๆ คิดแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา เมื่อจิตใจดี สบายใจทุกอย่างแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ให้มีความหวัง กำลังใจที่จะต่อสู้

ทุกข์ที่สุดอยู่ที่ไหน ขุมทรัพย์ก็มีอยู่ที่นั่น ... ทุกข์ที่สุดอยู่ที่ไหน สุขที่สุดมันก็อยู่ที่นั่น นี่เป็นความจริง... ไม่ว่าจะมีวิกฤติหรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือรักษาใจของเราให้ดี ให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นคุณธรรมประจำใจของเรา ...

อ่านเพิ่มเติม

ธรรม 4 ข้อ พร 4 ประการ โดยท่าน ว.วชิรเมธี


1. อย่าเป็นนักจับผิด
คนที่คอยจับผิดคนอื่น
แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น
ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง
'กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก'
คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส 'จิตประภัสสร'
ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี 'แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข'
2. อย่ามัวแต่คิดริษยา
'แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน'
คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า 'เจ้ากรรมนายเวร'
ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์ ฉะนั้น เราต้องถอดถอนความริษยาออกจากใจเรา
เพราะไฟริษยา เป็น 'ไฟสุมขอน' (ไฟเย็น)
เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน
เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี 'แผ่เมตตา'
หรือ ซื้อโคมมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา แล้วปล่อยให้ลอยไป
3. อย่าเสียเวลากับความหลัง
90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ
'ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น'
มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขา
พร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ
'อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน'
'อยู่กับปัจจุบันให้เป็น' ให้กายอยู่กับจิต จิตอยู่กับกาย
คือมี 'สติ' กำกับตลอดเวลา
4. อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ
'ตัณหา' ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่เกินพอดี
เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่เคยอิ่มด้วยเชื้อ
ธรรมชาติของตัณหา คือ 'ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม'
ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม
เช่น คุณค่าที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือไว้ดูเวลา ไม่ใช่มีไว้ใส่เพื่อความโก้หรู
คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร
แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์
เราต้องถามตัวเองว่า 'เกิดมาทำไม'
'คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน
ตามหา 'แก่น' ของชีวิตให้เจอ
คำว่า 'พอดี' คือ ถ้า 'พอ' แล้วจะ 'ดี'
รู้จัก 'พอ' จะมีชีวิตอย่างมีความสุข'

อ่านเพิ่มเติม

 
 
Copyright © abczaa...