ยินดีต้อนรับ

abczaa...ความซ่า...ไม่มีขีดจำกัด...แหล่งรวมไลฟ์สไตล์อันหลากหลายของคนรุ่นใหม่ ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม...^o^

เทคนิคการขึ้นสู่ที่สูง

วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553

" ก่อนตะวันลับแนวเหลี่ยมภูผา  หมอกจางตา  ฟ้าร่วมกันท้าทาย     ขุนเขายิ่งใหญ่ ทางเดินห่างลับไกล บุกเดินไปไม่เคยหวั่น... "           จั่วหัวเรื่องเทคนิคการขึ้นสู่ที่สูงแล้ว   ก็ให้นึกถึงเพลง "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" ของเต๋อ เรวัติ ขึ้นมาทีเดียว ขึ้นชื่อว่า   ขึ้นที่สูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ทั้งเรื่องการงาน มุมมองชีวิต หรือเกมกีฬา ก็ท้าทาย ไม่ใช่เล่น และเป็นเรื่องที่อาจจะกระทำกันได้ไม่ง่ายนัก เพราะคงต้องอาศัยทั้งกำลังกาย และกำลังใจ สู้ต่อไปอย่างไม่ท้อถอยและไม่หวาดหวั่น เพื่อรางวัลแห่งความสำเร็จที่รออยู่เบื้องหน้า นั่นก็คือ การถึงจุดหมาย ไปถึงฝั่งฝัน หรือสามารถเอื้อมมือคว้าดวงดาวอันไกลโพ้นสุดลูกหูลูกตาได้เป็นผลสำเร็จ
เทคนิคที่นำมาฝากในวันนี้ แม้จะเป็นเพียงประเด็นกีฬาในบางประเภท ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงการขึ้นที่สูงในทุกๆ เรื่องดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก็ตามที แต่ก็มีจุดน่าสนใจในการนำไปปรับใช้เพื่อการออกกำลังกายที่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี จึงขอหยิบกีฬาที่ท้าทาย เป็นที่ชื่นชอบ และน่าสนุก ขึ้นมาสัก 3 ประเภทก็แล้วกัน
ประเภทแรก จักรยานเสือภูเขา
หากคุณเคยปั่นจักรยาน เวลาจะขึ้นเนิน หรือ ขึ้นที่สูง คงเคยยืนโหย่งตัวถีบจักรยานไต่ขึ้นไป แทนที่จะใช้วิธีนั่งขี่สบายๆ บนอานแบบธรรมดาๆ ที่ใช้กับการขึ่บนพื้นราบ นั่นเป็นสิ่งที่คนทั่วไปคิดและทำเช่นนั้น เพราะมักเชื่อกันว่า การขี่แบบนั้น จะช่วยเพิ่มแรงส่ง ทำให้ขึ้นเนินได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น แต่สำหรับนักปั่นจักรยานเสือภูเขาตัวจริงไม่ทำเช่นนั้น!!!
ซาปาต้า เอสปิโญซ่า บรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร Mountain Bike แนะนำเทคนิคการขี่จักรยานขึ้นเนินไว้ว่า วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ การนั่งอยู่บนอาน เขาให้เหตุผลว่า การนั่งขี่จักรยานบนอานด้วยความเร็วคงที่ เมื่อขึ้นเนินจะสามารถรักษาระดับความเร็วไว้ได้ ส่วนการยืน จะทำให้น้ำหนักทั้งหมดลงไปอยู่ที่ล้อหลัง ส่งผลให้ต้องออกแรงในการปั่นมากขึ้น เช่นเดียวกับท่านั่งบนอานที่ห้อยไปทางด้านท้ายอาน ก็ส่งผลให้ต้องออกแรงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนถ้านั่งบนหัวอาน โน้มตัวมาข้างหน้า ก็ต้องออกกำลังขามากหน่อย ดังนั้น จึงควรมีการสลับสับเปลี่ยนท่านั่งเวลาขี่จักรยานขี้นเนิน โดยเฉพาะเนินยาวๆ ทั้งนี้ เพื่อคลายความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ปั่นจะเอาน่องโป่งอย่างเดียวเลยอันนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ
ประเภทที่สอง วิ่ง
เมื่อถึงทางขึ้นที่สูง ไม่ว่าจะขึ้นเนิน หรือขึ้นสะพาน นักวิ่งจำนวนไม่น้อย ก้มหน้าก้มตามองแต่ปลายเท้าตนเอง ไม่เงยหน้าท้าสู้ความชันของเนินกันนัก ทั้งๆ ที่การเงยหน้ามองตรง เป็นท่าที่ช่วยให้การหายใจสะดวกกว่าการก้มหน้าก็ตาม
แอมบี้ เบอร์ฟุต บรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร Runner's World เจ้าของแชมป์บอสตันมาราธอน ปี 1968 และผู้แต่งตำรา The Principles of Running แนะวิธีวิ่งขึ้นเนินแบบที่ไม่ทำให้เจ็บตัวไว้ว่า ควรมองตรงไปข้างหน้า อย่าแหงนหรือก้มหน้า ควรโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ก้าวเท้าสั้นๆ แต่มั่นคง ไม่ควรวิ่งเร็วเต็มฝีเท้า ยกเข่าให้สูงพอประมาณ เหวี่ยงแขนเต็มที่ เพื่อช่วยพยุงและดันตัวไปข้างหน้า ส่วนการวิ่งลงเนิน ให้วิ่งเหยาะๆ อย่างระมัดระวังโดยเฉพาะเวลาลงเท้าเพราะมีผลต่อการเกิดแรงกระแทกซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย และรักษาจังหวะการวิ่งให้คงที่
ประเภทที่สาม สเก็ต
ในวัยเด็ก บางท่านอาจเคยเป็นเซียนสเก็ตมาก่อน แต่จะทราบหรือไม่ว่า สเก็ตทางราบกับการสเก็ตขึ้นเนินนั้นมีเทคนิคที่ต่างกัน เพราะทางราบ คุณอาจไม่ต้องแกว่งแขนเลย แต่การขึ้นเนินนั้นการแกว่งแขนนับเป็นเทคนิคที่สำคัญยิ่ง
แบร์รี่ พับโลว์ ผู้เขียนหนังสือ Speed on Skates ย้ำว่า การแกว่งแขนอย่างมีจังหวะ จะช่วยให้การก้าวขาเป็นจังหวะสัมพันธ์กันไปด้วย ควรงอแขนประมาณ 45 องศา แกว่งสลับไปมาด้านหน้าลำตัว และในขณะที่เหวี่ยงแขนไปด้านหลังควรพยายามให้ข้อศอกตรง โดยเหยียดแขนขนานกับพื้น และเมื่อเหวี่ยงแขนกลับมาด้านหน้า ก็ควรงอแขนตามเดิม
เพียงแค่กีฬา 3 ชนิดประเภท ก็เห็นแล้วว่า มีเทคนิคที่แตกต่างมากมาย ถ้าพูดถึงกีฬาแต่ละประเภทอย่างจริงๆ จังๆ คงต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกันไปเลย เพื่อจะได้เรียนรู้เทคนิคที่เหมาะสม และถึงแม้จะกีฬาชนิดเดียวกัน บางทีเทคนิคของแต่ละคนก็อาจเหมาะสมกันไปแต่ละแบบตามแบบฉบับของตน ดังนั้น หากสนใจทำอะไรที่จะให้ดี ว่ากันว่าจะเอาดีทางนี้จริงๆ แล้ว ก็ควรเรียนรู้เทคนิค และฝึกฝนให้ชำนาญต่อไป แค่นี้ ไม่ว่าจะต้องขึ้นสักกี่เนิน จะเนินเตี้ยๆ หรือภูเขาสูงชัน ก็คงบ่ยั่นกันแล้วล่ะนะ...ว่ามั้ย?

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
 
Copyright © abczaa...