ยินดีต้อนรับ

abczaa...ความซ่า...ไม่มีขีดจำกัด...แหล่งรวมไลฟ์สไตล์อันหลากหลายของคนรุ่นใหม่ ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม...^o^

ขี่จักรยาน เพื่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

ภาษิตเยอรมันกล่าวว่า "จักรยานคันหนึ่ง ดีกว่ารถบรรทุกที่ขนยารักษาโรคเต็มคันรถ"  สื่อความหมายถึง การปั่นจักรยานจะทำให้มีสุขภาพดีได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยารักษาโรค ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีสนับสนุนให้ประชาชนของเขาหันมาขี่รถจักรยานส่วนตัว โดยการสร้าง Bike lane ไว้รองรับการใช้งานอย่างพรั่งพร้อม แต่เหตุผลของการปั่นจักรยานนั้น คงไม่ใช่มีเพียงแค่เพื่อการมีสุขภาพดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยนอกจากจะช่วยลดมลพิษในอากาศโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ แล้ว ยังช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้อีก และถ้าผู้คนหันมาขี่จักรยานกันมากขึ้นล่ะก็...
นอกจากจะเห็นประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังได้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ แถมช่วยประหยัดพลังงานน้ำมัน และประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้ในตัวเสร็จสรรพ
หลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ต่างขานรับกระแสความตื่นตัวในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง และต่างรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศของตนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ หันมาใช้รถจักรยานกันให้มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้แต่ญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยรถยนต์ ทั้งจากการขับขี่ภายในประเทศ และจากการผลิตรถยนต์ออกจำหน่ายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้ จะเห็นว่ามีกระแสตอบรับ ไบโคโลยี (bike+ecology) ที่ลุกลามกินวงกว้างไปทั่วประเทศ
กระแสไบโคโลยีที่ว่ามานั้น เกิดขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการใช้รถยนต์ แล้วทำให้เมืองมีสภาพที่เหมาะสมสำหรับการปั่นรถจักรยานแทน กระแสดังกล่าวแรงจนกระทั่งมีการออกกฎหมายแก้กฎหมายที่เอื้ออำนวยให้การสร้างหรือตัดสถนนสายใหม่จะต้องมี Bike lane หรือช่องทางสำหรับการปั่นจักรยานด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อทำให้จักรยานมีความสำคัญมากขึ้นกว่าแต่ก่อนนั่นเอง ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากที่เดียว
แต่ญี่ปุ่นก็ประสบปัญหาในเรื่องการที่ผู้คนหันมาใช้รถจักรยานกันมากขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน คือ ปัญหาการหาที่จอดจักรยาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ดินในประเทศญี่ปุ่นมีราคาแพงมาก ดังนั้น การจัดสรรพื้นที่เพิ่มขึ้นสำหรับใช้เป็นที่จอดรถจักรยานจึงเป็นเรื่องยากลำบาก แต่กระนั้น ญี่ปุ่นก็หาทางออกด้วยการนำระบบเช่ารถจักรยานมาใช้ โดยเมื่อจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิก หรือค่าเช่ารถจักรยานแล้ว เมื่อจะเดินทาง เช่น จากบ้านไปที่ทำงาน หรือเดินทางไปธุระที่ไหนๆ ก็ตาม สมาชิกสามารถหยิบฉวยรถจักรยานที่จอดอยู่บริเวณที่จอดรถจักรยานใกล้สถานีรถไฟหรือรถไฟใต้ดิน ปั่นไปในที่ที่ตนเองต้องการได้ทันที โดยวันรุ่งขึ้นก็ปั่นกลับไปคืนที่สถานี และช่วงหลังจากนั้น สมาชิกคนอื่นก็อาจมาหยิบฉวยมาหรือเช่าจักรยานต่อได้ เป็นการใช้จักรยานร่วมกันที่หนึ่งคันสามารถเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลายคน นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่คุ้มค่ามากทีเดียว และยังเป็นการลดปัญหาการหาพื้นที่สำหรับจอดจักรยานที่มีความต้องการมากขึ้นลงไปได้ โดยปัจจุบัน เมืองในประเทศญี่ปุ่น 19 เมือง กำลังร่วมโครงการนำร่อง อีโค ไซเคิล ซิตี้ ที่ส่งเสริมมาตรการที่ทำให้คนหันมาปั่นจักรยานกัน
หันกลับมามองบ้านเรา Bike lane เท่าที่เห็นก็มีอยู่แถวๆ ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา และเส้นลาดพร้าว โดยมีแถบสีแสดงช่องทางจักรยาน และมีพื้นที่จอดรถจักรยานตามจุดจอดใกล้ป้ายรถเมล์ นอกจากนี้บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าในย่านนี้ ยังมีรถจักรยานจอดเต็มแน่น จนบางทีก็หาที่จอดแทบไม่ได้แล้วเหมือนกัน จะเห็นได้ว่า ในบ้านเรา ถ้ามีการรณรงค์กันดีๆ อย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะเห็นความเติบโตของการใช้รถจักรยานมากขึ้นกว่านี้ได้ เพราะทุกวันนี้ ขนาดไม่ได้มีการรณรงค์กันอย่างกว้างขวาง แต่ในพื้นที่ที่จัดให้มีช่องทางจักรยานและที่จอดจักรยานก็มีผู้คนหันมาใช้กันอย่างแน่นขนัด นี่ยังไม่ได้นับรวมการใช้จักรยานของชมรมต่างๆ ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญอีกต่างหาก ดังนั้น ถ้าเราให้ความสำคัญของการใช้รถยนต์ให้น้อยลง และค่อยๆ เพิ่มบทบาทความสำคัญให้กับจักรยานมากขึ้น สักวันหนึ่ง ประเทศเรา บ้านเมืองเรา คงก้าวสู่ อีโค ไซเคิล ซิตี้ กับเขาบ้างก็อาจเป็นได้...

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เย่ๆ ๆ ... กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ / ขอให้ประเทศของเรา ถึงวันนั้นไวๆ ด้วย



LOVE__IS__ALL

แสดงความคิดเห็น

 
 
Copyright © abczaa...