ยินดีต้อนรับ

abczaa...ความซ่า...ไม่มีขีดจำกัด...แหล่งรวมไลฟ์สไตล์อันหลากหลายของคนรุ่นใหม่ ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม...^o^

"ผมขาวเหมือนดอกเลา" คำกล่าวของคนล้านนา

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ดอกเลาเป็นอย่างไร หลายคนคงไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก แต่กับผู้คนที่มีวิถีชีวิตอยู่แถวลุ่มน้ำปิง คงเคยเห็นดอกเลาสีขาวเต็มสองฟากฝั่ง ต้นอ้อ ต้นแขม หรือต้นเลา มีขึ้นมากมายตามริมฝั่งลำน้ำแม่ปิง ที่จริงไม้พวกนี้มีประโยชน์มากมายต่อฝั่งน้ำ เพราะมีรากเหง้าที่ลึกและดกหนา แผ่กระจายไปกว้าง จับเกาะตามหน้าดินซึ่งเป็นฝั่งน้ำ ทำให้เนื้อดินติดกันแน่นไม่พังไปกับสายน้ำได้ง่ายๆ ดอกเลาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าดอกแขม มักจะออกดอกให้ผู้คนได้เห็นเมื่อเข้าสู่หน้าหนาว ขณะที่กระแสน้ำปิงเริ่มลดลาฝั่ง ยามที่ลมพัดโชย พาเอาความหนาวเย็นมาสู่ผู้คน ดอกเลาเริ่มแทงยอดอวดสีขาวบริสุทธิ์ให้ผู้คนได้รับรู้ว่า ฤดูกาลทำสวนริมสองฝั่งน้ำ... ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว...
เมื่อเห็นดอกเลา ชาวสวนริมสองฟากฝั่งลำน้ำปิงจะลงมือถากถางขุดแต่งพื้นดินให้เป็นร่องเป็นแปลงเพื่อปลูกพืชสวนตามปกติ ในยามนี้เองเราจะเห็นกลุ่มควันที่เกิดจากการเผาไหม้กอหญ้ากอพืชที่ไม่มีใครต้องการ ลอยเคว้งคว้างผ่านปลายยอดดอกเลาดูงามตาเป็นยิ่งนัก ในขณะที่บนท้องฟ้าสีครามกว้างไกล สายลมที่พัดพลิ้วในครั้งคราวหนึ่งๆ ยังอาจพัดพาเอาละอองเกสรกลีบดอกเลาปลิวไปตามสายลม พลัดพรากจากถิ่นที่เคยอยู่ ไปตกหล่นพลัดถิ่นในที่ไกลๆ

ในบรรยากาศแบบนี้นอกจากจะสร้างความสวยงามให้โลกเห็นแล้ว ยังเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องเตือนจิตใจผู้คนให้ได้หันกลับมาพิจารณาตนเอง พิจารณาสังขารวัยอันเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ เฉกเช่นสีของเส้นผมคนเราที่แปรเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาวดั่งสีของดอกเลาตามสภาพอายุขัย ที่บ่งบอกถึงสัจจธรรมความเป็นไปในความเป็นจริงของชิวิต ที่อาจทำให้ผู้คนได้ตระหนักรู้เช่นกันว่า ความชราได้มาเยือนร่างกายนี้แล้ว อย่างไม่มีข้อยกเว้น และไม่อาจยับยั้ง หรือหลีกเลี่ยงใดๆ ได้

ดอกเลาแม้เมื่อต้องลอยคว้างจากถิ่นที่กำเนิดไปยังถิ่นที่ห่างไกล ก็ยังคงสีขาวสะอาดสดใสซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไว้ได้อย่างเหนียวแน่น หวนกลับมามองดูผู้คนโดยเฉพาะตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่ต้องพลัดพรากจากไป มีความดีงามอะไรคงเหลือไว้ให้ลูกหลานชื่นชมกันบ้างหรือ?
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล นิคม พรหมมาเทพย์
ภาพดอกเลาฝั่งลำน้ำปิงท่าวัง ขอนตาล อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

อ่านเพิ่มเติม

พริก เผ็ด ร้อน Hot&Spicy

พูดถึงความเผ็ดร้อนและสีสันจัดจ้านของอาหารจานเด็ด คงต้องยกให้พริกเป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง แต่จะมีใครคาดคิดบ้างว่า ในโลกนี้นอกจากจะได้มีการศึกษาถึงเรื่องคุณค่าทางโภชนาการของพริกกันไว้แล้วยังได้มีการศึกษาถึงค่าความเผ็ดร้อนของพริกกันอีกด้วย

ในการค้นคว้าทดลองเรื่องพริกอย่างกว้างขวาง พบว่า สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว และสีอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายถึง 20 ชนิดในพริกนั้น มีวิตามินซีในปริมาณที่สูงมาก เรียกได้ว่า มากกว่าวิตามินซีที่พบในผลส้มเสียอีก โดยในพริก 28 กรัม จะมีวิตามินซีสูงถึง 100 มิลลิกรัม และมีวิตามินเอสูง ถึง 16,000 หน่วย พริกจึงช่วยป้องกันโรคหวัด และช่วยบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในพริกยังมีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ที่รู้กันดีว่ามีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลออาการแก่เกินวัยได้
แล้วทำไมพริกจึงเผ็ด?
หลายคนอาจจะเคยสงสัย เรื่องนี้มีคำตอบจากการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า ในพริกมีสารเคมีชื่อ แคปไซซิน (Capsaicin) มีสูตรโมเลกุลคือ C18H27NO3 แคปไซซิน เป็นสารธรรมชาติจำพวกอัสคาลอยด์ เป็นสารที่ทำให้พริกมีรสเผ็ด และมีสรรพคุณช่วยลดน้ำมูก หรือ สารกีดขวางระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากหวัด
ในปี พ.ศ. 2456 มีนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันนี ชื่อ วิลเบอร์ สโควิลล์ (Willbur Scoville) ได้ริเริ่มวัดค่าความเผ็ดของพริกเป็นคนแรก โดยใช้กลุ่มคนที่ชอบทานพริกเป็นกลุ่มทดลอง และต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องมือวัดค่าความเผ็ดของพริก ชื่อว่า เอช พีแอล ซี (HPLC – pressure liquild chromatography)
ผลความเผ็ดปรากฏดังนี้
อันดับที่ 1 พริกที่มีความเผ็ดที่สุดในโลก ได้แก่ พริกฮาบาเนโรแดงซาวีนา
อันดับที่ 2 พริกฮาบาเนโร
อันดับที่ 3 พริกขี้หนู พริกสก็อต บอนเนท พริกจาไมก้า
อันดับที่ 4 พริกที่มีความเผ็ดปานกลาง คือ พริกชี้ฟ้า
อันดับที่ 5 พริกที่ไม่มีความเผ็ดเลย คือ พริกหยวก พริกหวาน
เสน่ห์ของพริก นอกจากจะอยู่ที่ความเผ็ดร้อนแล้ว สิ่งที่ทำให้พืชชนิดนี้ได้รับความสนใจ ไม่แพ้เรื่องของความเผ็ด คือ คุณค่าทางโภชนาการที่นับว่าสูงขั้นเทพก็อาจกล่าวได้ พริกนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการหวัด บำรุงสายตา และช่วยต้านอนุมูลอิสระดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว พริกยังช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดความดัน ช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ( LDL) ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพและอารมณ์ที่ดีได้อีกด้วย
ทราบข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับพริกกันอย่างนี้แล้ว คนที่รับประทานเผ็ดเป็นประจำคงรู้สึกดีมาก แต่คนที่รับประทานเผ็ดไม่เป็นหรือไม่เก่งนี่สิ ...โถๆๆ น่าเห็นใจ... พริกให้ประโยชน์ที่สำคัญแก่ร่างกายมากมายขนาดนี้ ใครไม่ชอบรับประทานเผ็ด คงต้องตัดสินใจใหม่แล้วล่ะ!!!

อ่านเพิ่มเติม

สูตรคำนวณการดื่มน้ำ

เอ๊ะ!!! แปลกใจกันล่ะสิ

มีด้วยเหรอ ดื่มน้ำต้องคำนวณสูตร ถ้าจะมีก็เห็นจะเป็นสูตรสำเร็จที่ได้ยินกันมาแต่ไหนแต่ไร ว่าควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
...ก็แหม... อันนี้ก็เป็นสูตรที่มีมานานแต่ไหนแต่ไร ใครๆ ก็คงเคยได้เรียน ได้รู้ ได้รับทราบกันมานานแสนนานแล้ว รวมถึงที่ว่าน้ำที่จะเข้าสู่ร่างกายได้นั้น มาจากน้ำที่ดื่มและอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นหลัก ส่วนน้ำที่จะออกจากร่างกายได้นั้น มีทางปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ และลมหายใจ
เพิ่มเติมอีกนิดคือ ร่างกายขับน้ำออกทางปัสสาวะเป็นหลัก อย่างน้อย 500 มิลลิลิตร/วัน ส่วนอีก 3 ทางที่เหลือรวมประมาณ 1000 มิลลิลิตร/วัน
ดังนั้นแค่ว่าต้องดื่มน้ำชดเชยส่วนที่ร่างกายสูญเสียไปต่อวันก็ปาเข้าไปลิตรครึ่งหรือประมาณ 7-8 แก้วเข้าไปแล้ว เราจึงมักได้ยินคำกล่าวว่าควรดื่มน้ำให้มากกว่าที่ร่างกายสูญเสียไป ผลที่ได้จึงกลายเป็น 8-10 แก้ว แต่ลองคิดดูง่ายๆ สิ ถ้าใช้สูตรนี้กับทุกคน เด็กทารกก็ดื่มเท่านี้ เด็กโตก็เท่านี้ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ คนชรา ก็ดื่มเท่านี้เท่ากันหมด ...สูตร 8-10 แก้วจะเหมาะกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้จริงๆ อย่างนั้นหรือ...
อืมมม...น่าคิดใช่มั้ยล่ะ!!!
ว่าแล้วเราลองมาดูสูตรคำนวณการดื่มน้ำที่ว่ากันดีกว่า ลองคำนวณดูนะ ว่าจะใช้ได้จริงๆ รึเปล่า
สูตรคือ น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) x 2.2 x 30 / 2
ตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม คำนวณแล้วได้ผลลัพธ์ 1980 หน่วยเป็นมิลลิลิตร หรือได้ผลลัพธ์ประมาณ 2 ลิตร ถ้าดื่มน้ำแก้วละ 200 มิลลิลิตร ก็ควรดื่ม 10 แก้ว เป็นต้น
ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ออกมา 10 แก้วเหมือนกัน แต่ลองพิจารณาดูแล้ว สูตรนี้คำนวณมาจากน้ำหนักตัว ถ้าน้ำหนักตัวน้อยกว่านี้ก็ดื่มน้อยกว่านี้ ถ้าน้ำหนักตัวมากกว่านี้ก็ดื่มมากขึ้น ดูมีเหตุผลดีใช่มั้ยล่ะ
ไม่ได้บอกให้เชื่อสูตรนี้นะ แต่ได้ข้อมูลมาเลยเอามาแบ่งปัน ยังไงก็ลองพิจารณาดูเอาเองก็แล้วกันจ้า...

อ่านเพิ่มเติม

 
 
Copyright © abczaa...