ยินดีต้อนรับ

abczaa...ความซ่า...ไม่มีขีดจำกัด...แหล่งรวมไลฟ์สไตล์อันหลากหลายของคนรุ่นใหม่ ยินดีต้อนรับทุกท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชม...^o^

กลิ่นเครื่องหอมแบบไทย ศาสตร์เพื่อการบำบัดผ่อนคลาย

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

Thai Aroma Therapy การบำบัดผ่อนคลายด้วยกลิ่นเครื่องหอมไทย อีกหนึ่งศาสตร์และศิลป์แห่งการบำบัดเพื่อความผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยใช้กลิ่นเครื่องหอมตามแบบฉบับของไทยจำพวกน้ำมันหอมระเหยจากพรรณไม้ธรรมชาติหลากชนิดมาปรุงแต่ง เป็นเรื่องที่ทุกวันนี้กลายเป็นที่ยอมรับตามกระแสสังคมทั้งในเมืองหลวง ชนบท รวมไปจนถึงเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติมากมาย จนมีร้านสปาต่างๆ ทั้งสปามือ สปาเท้า สปาตัว สปาหน้า สปาหมา ก็ยังมี ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด
เพื่อสนองความมหัศจรรย์ของระบบประสาทสัมผัสรับกลิ่นของมนุษย์ที่สามารถรับกลิ่นได้มากมายกว่าหมื่นชนิด มนุษย์ได้คิดค้นคว้ากลิ่นต่างๆ จากธรรมชาติ ที่มีอนุภาคเล็กๆ ของน้ำมันที่มีความเข้มข้นสูงและระเหยได้ง่ายเมื่อสัมผัสอากาศ มาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ สำหรับใช้ทำน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil)  แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ
กลุ่มที่1 มีผลในการกระตุ้นการทำงานของร่างกาย (Stimulating) ช่วยป้องกันการอักเสบ บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ไมเกรน ความดันโลหิตต่ำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น การบูร พิมเสน สะระแหน่ ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส มิ้นต์ เป็นต้น
กลุ่มที่2 มีผลในการให้ความสดชื่น (Refreshing) ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเครียด ลดความท้อแท้ คลายความกังวล คลายความปวดเมื่อย บรรเทาอาการปวดศีรษะ ช่วยลดไข้ เช่น มะกรูดไทย ผิวส้ม ตะไคร้ เป็นต้น
กลุ่มที่3 มีผลช่วยให้ผ่อนคลาย (Relaxing) ลดการอ่อนเพลีย บรรเทาอาการนอนไม่หลับ ช่วยลดความดันโลหิต ลดอาการของวัยหมดประจำเดือน เช่น กระดังงา กุหลาบ มะลิ (จัสมิน) ดอกส้ม จันทร์กะพ้อ กรรณิการ์ เป็นต้น
ทราบกันแต่สรรพคุณ และชนิดของพันธุ์ไม้ที่ใช้ คงไม่ช่วยบำบัดอะไรได้ จึงจำเป็นต้องทราบถึงวิธีการนำไปใช้ด้วยว่าใช้อย่างไร จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ วิธีการบำบัดด้วย Aroma Therapy มี 8 วิธี ดังนี้คือ
1. การนวด (Message)
เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมว่ามีผลดีที่สุดที่ช่วยในการบำบัดวิธีหนึ่ง ประกอบกับสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดที่มีคุณภาพดีและผ่านการคัดเลือกเพื่อนำมาใช้อย่างเหมาะสมกับความต้องการในการบำบัด เมื่อซึมผ่านผิวหนังโดยการทา ถู นวด กลิ่นหอมระเหยจากน้ำมันหอมระเหย จึงไปกระตุ้นให้ระบบประสาทรับกลิ่นปรับอารมณ์ของผู้ที่ได้รับกลิ่นและสัมผัสรู้สึกสบายขึ้น
2. การอาบ (Baths)
เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำเองที่บ้านได้ เพียงผสมน้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ หยดน้ำมันหอมระเหยลงไปประมาณ 6-8 หยด แล้วลงไปแช่ทั้งตัวประมาณ 20 นาที เมื่อได้รับไอระเหยจากน้ำอุ่นที่ผสมน้ำมันหอมระเหยภายในอ่าง และจากการซึมผ่านทางผิวหนัง จะช่วยให้ผู้ได้รับการบำบัดรู้สึกสดชื่นขึ้น
3. การประคบ (Compresses)
เป็นการบำบัดเฉพาะที่ โดยผสมน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดต่อน้ำอุ่น 100 มิลลิลิตร แล้วใช้ผ้าขนหนูสะอาดๆ ชุบ แล้วนำไปประคบร่างกายตามบริเวณต่างๆ ที่ต้องการ ควรเว้นการประคบที่ดวงตา
4. การสูดดม (Inhalation)
เป็นการใช้กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยเพียงอย่างเดียว ไม่มีการสัมผัสกับน้ำมันหอมระเหยทางผิวหนังโดยตรง วิธีการคือ ใส่น้ำมันหอมระเหย 1-2 หยดบนผ้าเช็ดหน้า แล้วสูดดม
5. การสูดไอน้ำ (Vaporization)
น้ำมันหอมระเหยบางชนิด มีคุณสมบัติเป็น Antiseptic คือ ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ ดังนั้น เมื่อสูดดมไอจากน้ำมันหอมระเหยชนิดนี้เข้าไป จึงช่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ แต่เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาผิวบอบบาง และผู้ที่เป็นโรคหอบหืด วิธีทำ คือ หยดน้ำมันหอมระเหย 2-4 หยด ลงในชามใหญ่ที่ใส่น้ำร้อนไว้ แล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะเข้ากับชาม ก้มหน้าลงไปให้ใกล้ชามมากที่สุด เพื่อสูดไอน้ำร้อนที่ผสมไอน้ำมันหอมระเหย
6. การเผา-อบแห้ง
เป็นการอบห้องให้หอม โดยมีหลักการเพื่อฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีข้อมูลรายงานว่าในโรงพยาบาลก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน โดยใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ และถ้าต้องการให้ห้องมีกลิ่นหอมตามที่ต้องการด้วย ก็สามารถทำได้ โดยการหยดน้ำมันหอมระเหย 3-4 หยด ในน้ำที่เตรียมใส่ภาชนะสำหรับเผา (Aroma Jar) แล้วจุดเทียนเผาอบไว้ในห้องที่ปิดมิดชิดประมาณ 10 นาทีต่อครั้ง ความร้อนจากเทียนจะทำให้กลิ่นหอมจากน้ำผสมน้ำมันหอมระเหยส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วห้อง
7. ใช้ผสมกับเครื่องหอมและน้ำหอม
เครื่องหอม และน้ำหอมต่างๆ ส่วนมากมักจะมีส่วนผสมของกลิ่นไม้หอม หรือกลิ่นจากดอกไม้หอมนานาชนิดพันธุ์ผสมอยู่ เช่น บุหงา เป็นต้น การใช้เครื่องหอมและน้ำหอมกลิ่นต่างๆ โดยมากมักมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความหอมสบายใจ ความรู้สึกสะอาด สดชื่น เป็นที่เร้าใจ ตราตรึงใจแก่ผู้คนรอบข้างเป็นสำคัญ
8. ใช้ผสมกับเครื่องสำอาง ครีม โลชั่น
ความหลากหลายและคุณสมบัติเฉพาะจากน้ำมันหอมระเหย สามารถช่วยให้เครื่องสำอาง ครีม และโลชั่นต่างๆ กลายเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ผิวหน้า เส้นผม ที่หอมถูกใจผู้ใช้ และการสกัดบางชนิดยังช่วยในการทำความสะอาดผิวหนัง และสร้างความสมดุลให้ผิวได้
การศึกษาให้รู้จริงว่า สารชนิดใดในและละพันธุ์ไม้ มีคุณสมบัติประการใด นับว่ามีประโยชน์อย่งยิ่งแก่ผู้ที่ชื่นชอบศาสตร์แห่งความหอม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเมื่อได้ทราบถึงคุณสมบัติต่างๆ ของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด และวิธีการใช้น้ำมันหอมระเหยแต่ละแบบแต่ละวิธีกันไปแล้ว คราวนี้เวลาจะเลือกใช้ คงต้องพิถีพิถันกันหน่อยแล้วล่ะ

1 ความคิดเห็น:

LOVE__IS__ALL กล่าวว่า...

เว็บสุดยอดเลยนะ

แสดงความคิดเห็น

 
 
Copyright © abczaa...